หมวดสินค้าหลัก

แนะนำการพิชิตข้อสอบภาค ก. ก.พ. ทั้งระดับปฏิบัติงาน และ ระดับปฏิบัติการ

กระแสการสอบภาค ก. ก.พ. กำลังฮิตมาก สาเหตุเพราะ ก.พ.เปลี่ยนระบบการสอบโดยให้ทุกระดับการสอบต้องมีการสอบภาค ก.ทิ้งไว้ ซึ่งเดิมมีเพียงระดับปริญญาตรี ปริญญาโทเท่านั้น แต่ปัจจุบันระดับต่ำกว่าปริญญาตรีก็ต้องสอบทิ้งไว้เช่นกัน โดยรุ่นแรกปฐมฤกษ์ที่การสอบเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ปฏิบัติงาน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2552 ข้อสอบถือว่าง่ายมาก (บางคนบ่นว่าภาษาไทยยาก) ใครผ่านก็ถือว่าโชคดีไป ส่วนการสอบระดับปฏิบัติการ (ซี3เดิม) นี่นะซินับวันยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ โหดที่สุดก็คราวกรมการค้าภายใน สอบสี่หมื่นคน ผ่าน 543 คน ขนาดกรรมการคุมสอบที่เคยผ่านภาค ก. มาแล้วเขายังบ่นว่ายาก เอาเป็นว่ามาดูลักษณะข้อสอบกัน

ข้อสอบภาค ก. ก.พ. ทั้งระดับปฏิบัติงาน และ ปฏิบัติการ

•มี 80 ข้อ
•ให้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง
•แบ่งเป็น 1. การคิดหาเหตุผล 40 ข้อ 2. ภาษาไทย 40 ข้อ
1. การคิดหาเหตุผล แยกเป็นหัวข้อย่อยๆ ดังนี้


•1.1 อนุกรม 5 ข้อ มีทั้งอนุกรมที่เป็นจำนวนเต็มและเศษส่วน ในระดับปฏิบัติงานจะไม่ค่อยยาก มองดูก็พอรู้ได้ทันทีว่าเขาเรียงตัวเลขไว้ยังไง เช่น 36 6 20 4 16 4 27............. (ข้อสอบเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ปฏิบัติงาน) มองดูก็พอเดาออกว่าเกิดจากเอาตัวที่ 1 ตั้งหารด้วยตัวที่ 2 แล้วได้ผลเท่าไรเอาเรียงไว้ จากนั้นก็เอาตัวที่ 3 หารด้วยตัวที่ 4 ตัวที่ 5 หารด้วยตัวที่ 6 ผลของการหารแต่ละชุดจะได้ตัวเลขเรียงกันคือ 6,5,4 ฉะนั้นผลหารของชุดถัดไปก็ต้องเท่ากับ 3 ตัวเลขที่หาร 27 แล้วได้ 3 ก็คือ 9 คำตอบจึงเท่ากับ 9 จะเห็นว่าไม่ลึกลับซับซ้อนอะไร แต่สำหรับระดับปฏิบัติการ ก็คงต้องเพิ่มการฝึกทำโจทย์ที่ยากๆไว้ เพราะมีความยากมากกว่า
•1.2 โอเปอเรชั่น (*) สำหรับระดับปฏิบัติงานมีประมาณ 1 ข้อ แต่ระดับปฏิบัติการมี 1-2 ข้อ ในส่วนระดับปฏิบัติงานคงไม่ยากอะไร มองดูก็น่าจะนึกความสัมพันธ์ออก เช่น 2*3 = 12 และ 4*5 = 40 แล้ว 1*7 =? (ข้อสอบราชทัณฑ์ปฏิบัติงาน) มองดูรู้เลยว่าเอาตัวเลขคูณกันแล้วคูณ 2 อีกที แต่ถ้าเป็นระดับปฏิบัติการ ความสัมพันธ์มันจะซับซ้อนมาก ต้องคิดหลายตลบ
•1.3 เงื่อนไขทางสัญลักษณ์ มี 5 ข้อ ข้อสอบลักษณะนี้ถ้าเข้าใจจะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจจะกลายเป็นเรื่องยาก ข้อสอบระดับปฏิบัติงานต่างจากระดับปฏิบัติการ อยู่ที่ระดับปฏิบัติการจะมีตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยรวมไปถึงเศษส่วน และมีความซับซ้อนมากกว่ามาก แต่วิธีคิดเหมือนกันคือ 1. เปลี่ยนเครื่องหมาย 2. หาตัวเชื่อม 3.เชื่อมความสัมพันธ์ตามที่โจทย์ถาม 4. ตอบคำถาม โดยใช้หลักตาราง 6x6 มาใช้หาคำตอบ ถ้าเข้าใจเต็มแน่นอน
•1.4 คณิตศาสตร์ทั่วไป 4 - 5 ข้อ จะมีอยู่ไม่กี่เรื่อง เช่น การหาความเร็วเฉลี่ย การหาค่าสมการ (ถ้าเป็นระดับปฏิบัติงานจะให้สมการมาแก้ดื้อๆเลย แต่ถ้าเป็นระดับปฏิบัติการจะให้โจทย์มาตีเป็นสมการ แล้วค่อยหาค่าอีกที) ร้อยละ กำไร ขาดทุน เรื่องอายุ เรื่องขาสัตว์ ต้องรู้กฎพิธากอรัส สูตรการหาความเร็ว สูตรการหาพื้นที่ ปริมาตรของรูปเหลี่ยมต่างๆ การหามุมภายในรูปเหลี่ยมต่างๆ การประยุกต์ใช้ ห.ร.ม. การนำข้อมูลที่กำหนดมาเขียนในรูปเซตแล้วตอบคำถาม เป็นต้น
•1.5 กราฟ ตาราง แผนภูมิ 5 ข้อ วิธีคิดคือต้องรู้จักปัดตัวเลขให้เป็นตัวเลขลงตัว เพื่อง่ายต่อการคำนวณ เพราะต้องแข่งกับเวลา โจทย์ลักษณะแบบนี้ไม่ยากแต่ต้องเร็ว และต้องรู้จักสร้างตารางขึ้นมาใหม่โดยใช้การประมาณค่าให้อยู่ในรูปตัวเลข ไม่เกิน 4 หลัก
•1.6 อุปมา - อุปไมย 10 ข้อ ไม่ยากถ้าเข้าใจความสัมพันธ์ ควรฝึกทำโจทย์เยอะๆ
•1.7 เงื่อนไขทางภาษา ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะจะต้องรู้จักเอาไปลงตารางให้เป็น ถ้าลงตารางได้ถูกต้อง รับรองถูกทุกข้อ แต่ถ้าลงตารางผิดก็เรียบร้อยครับ ผิดหมด
•1.8 ตรรกวิทยา หรือ ข้อมูลสอดคล้อง ไม่สอดคล้อง 5 ข้อ ดูๆไปคิดว่าเป็นภาษาไทยแต่ความเป็นจริงเป็นการใช้หลักการทางคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการตอบคำถาม นับว่าเป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่ยากพอสมควร หากไม่มีความเข้าใจ มีโอกาสผิดสูงมาก
2. วิชาภาษาไทย 40 ข้อ
ระยะหลังนี้ วิชาภาษาไทยถือว่าปราบเซียนพอดู บางคนคิดว่าภาษาไทยยังดีกว่าวิชาการคิดวิเคราะห์เหตุผล เพราะยังไงก็พอมีลุ้นหาคำตอบง่ายกว่า แต่จริงๆ ไม่ใช่ครับ ภาษาไทยนี่ล่ะตัวผิดดีนักแล แถมมีโอกาสทำข้อสอบไม่ทัน เพราะการอ่านเพื่อตีความสรุปความโจทย์มันยาว ฉะนั้นต้องมีวิธีทำก็คือรีบทำเนื้อหาอื่นๆก่อน แล้วถึงค่อยมาทำส่วนที่โจทย์ยาวๆ ซึ่งพอจะสรุปเรื่องที่ออกได้ดังนี้

•2.1 การเติมคำหรือกลุ่มคำในช่องว่าง 5 ข้อ ต้องศึกษาความหมายของคำหรือกลุ่มคำให้ดี เพราะไม่มีวิธีลัดอะไรทั้งสิ้น ถ้าตราบใดที่จำความหมายไม่ได้ ถ้าใครรู้และเข้าใจความหมาย 5 ข้อ ก็ไม่น่าจะเกิน 1 นาที แถมถูกทุกข้อด้วย
•2.2 การใช้คำรัดกุม 10 ข้อ ต้องเข้าใจหน้าที่ของคำในภาษาไทยให้ดีโดยเฉพาะคำบุพบทกับคำสันธาน รวมทั้งคำกำกวม คำภาษาต่างประเทศ ระดับของภาษา
•2.3 การเรียงข้อความหรือประโยค โดยโจทย์จะให้ข้อความมา 4 ข้อความ แล้วถามว่าข้อความใดอยู่ลำดับเท่าใด หรือไม่ก็ให้เรียงข้อความตามลำดับ วิธีคิดต้องหาข้อความแรกให้ได้ก่อน ซึ่งส่วนมากจะขึ้นต้นด้วยคำนามซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค จากนั้นก็เรียงตามลำดับตามรูปแบบของประโยคในภาษาไทย ที่ประกอบด้วยภาคประชาชน และภาคแสดง การเรียงข้อความมี 5 ข้อ
•2.4 การอ่านตีความ สรุปความจากประโยคสั้นๆ 10 ข้อ ต้องทำความเข้าใจว่าเนื้อหาที่เขาพูดถึงจริงๆ คืออะไร แล้วใช้ตอบคำถาม
•2.5 การอ่านตีความ สรุปความ จากประโยคยาวๆ 10 ข้อ บทความจะยาวกว่าบทความสั้น และหนึ่งบทความจะมีคำถาม 3-4 คำถาม เพื่อให้ผู้เข้าสอบวิเคราะห์และตอบคำถาม

Close หน้าต่างนี้
Go Top